วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เครือหมาน้อย







ชื่อสมุนไพร
เครือหมาน้อย
ชื่ออื่นๆ
กรุงเขมา (กลาง นครศรีธรรมราช) หมอน้อย (อุบลราชธานี)ก้นปิด (ตะวันตกเฉียงใต้) ขงเขมา พระพาย (ภาคกลาง) เปล้าเลือด (แม่ฮ่องสอน) สีฟัน (เพชรบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cissampelos pareira L. var. hirsuta (Buch. ex DC.) Forman.
ชื่อพ้อง
Cissampelos poilanei Gagnep.
ชื่อวงศ์
Menispermaceae 



ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
    เป็นไม้เถาเลื้อย เนื้อไม้แข็ง มีขนนุ่มสั้นปกคลุมหนาแน่นตามเถา กิ่ง ช่อดอก และใบ ไม่มีมือเกาะ มีรากสะสมอาหารใต้ดิน ใบเป็นใบเดี่ยว มีหลายรูป เช่น รูปหัวใจ รูปกลม รูปไต หรือรูปไข่กว้าง ก้นใบปิด ออกแบบสลับ กว้าง 4.5-12 เซนติเมตร ยาว 4.5-11 เซนติเมตร ปลายใบส่วนมากมนหรือเรียวแหลม โคนใบกลมตัด หรือเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ เนื้อบางคล้ายกระดาษ มีขนนุ่มสั้นกระจาย ทั้งหลังใบ และท้องใบ ใบเมื่อยังอ่อนจะมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมอยู่ทั้งสองด้าน และตามขอบใบ แต่จะร่วงไปเมื่อใบแก่ เส้นใบออกจากโคนใบรูปฝ่ามือ ก้านใบยาว 2-9 เซนติเมตร ขนนุ่มสั้น หรือเกือบเกลี้ยง ติดที่โคนใบห่างจากขอบใบขึ้นมา 1-18 มิลลิเมตร ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งหนามดอกออกเป็นช่อกระจุกสีขาว ขนาดเล็กประมาณ 0.2-0.5 มิลลิเมตร ดอกแยกเพศ และอยู่ต่างต้นกัน เรียงแบบช่อเชิงหลั่น มีขนาดเล็ก แต่ละช่อกระจุกมีก้านช่อดอกยาว 2-4 เซนติเมตร มีขนนุ่มสั้น ออกกระจุกเดี่ยวๆหรือ 2-3 กระจุกในหนึ่งช่อ ช่อดอกเพศผู้ ออกตามง่ามใบ ก้านช่อกระจุกแตกแขนง ยืดยาว ประกอบด้วยกระจุกดอกอยู่ตามง่ามใบประดับ ใบประดับรูปกลม และขยายใหญ่ขึ้น ดอกเพศผู้ สีเขียวหรือสีเหลือง มีก้านดอกย่อยยาว 1-2 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 1.25-1.5 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนยาวห่าง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนประปราย เกสรเพศผู้เชื่อมติดกัน อับเรณูยาว 0.75 มิลลิเมตร ช่อดอกเพศเมีย เป็นช่อคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ทรงแคบ ยาวถึง 18 เซนติเมตร ประกอบด้วยช่อดอกที่เป็นกระจุกติดแบบคล้ายเป็นช่อกระจะ แต่ละกระจุกอยู่ในง่ามของใบประดับ ใบประดับรูปกลม เมื่อขยายใหญ่ขึ้นยาวถึง 1.5 เซนติเมตร มีขนประปรายหรือขนยาวนุ่ม ดอกเพศเมีย มีก้านดอกย่อยยาว 1-1.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงมี 1 กลีบ รูปไข่กลับกว้าง ยาว 1.5 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 1 กลีบ รูปไข่กลับกว้าง ยาว 0.75 มิลลิเมตร โคนสอบแคบไม่มีเกสรเพศผู้ปลอม เกสรเพศเมียมี 1 อัน ขนาดประมาณ 0.5 มิลลิเมตร มีขนยาวห่าง ก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 3 พู กางออก ผลสด มีก้านอวบใหญ่ ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร สีส้ม ผลทรงกลมรีอยู่ตรงปลาย เมื่อสุกสีน้ำตาลแดง เมล็ดโค้งงอรูปพระจันทร์ครึ่งซีก ผิวขรุขระ มีรอยแผลเป็นของก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ด้านข้าง มีขนสั้นนุ่ม ผนังผลชั้นในรูปไข่กลับ ยาว 5 มิลลิเมตร ด้านบนมีสันขวาง 9-11 สัน เรียงเป็น 2 แถว ชัดเจน ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดหรือเหง้า พบในป่าดิบ ป่าผลัดใบ และป่าไผ่ ตามริมแม่น้ำลำธาร ออกดอกช่วงเดือนมีนาคมถึงธันวาคม เถาและใบคั้นเอาน้ำเมื่อผสมกับเครื่องปรุงอาหาร จะมีลักษณะเป็นวุ้น รับประทานเป็นอาหาร




สรรพคุณ    
ส่วนเหนือดิน เป็นยาแก้ร้อนใน แก้โรคตับ ราก มีกลิ่นหอม รสสุขุม ใช้แก้ไข้ แก้ดีรั่ว ดีล้น ดีซ่าน เป็นยาขับปัสสาวะ ยาถ่าย แก้ไข้มาลาเรีย ใช้เป็นยาเจริญอาหาร ยาอายุวัฒนะ ยาช่วยย่อย แก้ท้องร่วง บวมน้ำ แก้ไอ ขัดเบา กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และใช้ในรายถูกงูกัด เป็นยาลดไข้ แก้ปวดท้อง โรคหนองใน ราก รสหอมเย็นสุขุม แก้ไข้ แก้ดีรั่ว ดีซ่าน เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงอวัยวะเพศให้แข็งแรง แก้ลม โลหิต กำเดา แก้โรคตา ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ ใช้เคี้ยว แก้ปวดท้อง และโรคบิด ระบายนิ่ว แก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ไอเจ็บหน้าอก เป็นยาขับเหงื่อ ยาขับระดู ยาบำรุง ยาสงบประสาท ยาขับน้ำเหลืองเสีย ยาสมาน รากและใบ พอกเป็นยาเฉพาะที่ แก้โรคผิวหนัง หิด ลำต้นดับพิษไข้ทุกชนิด บำรุงโลหิตสตรี เป็นยาพอกแก้ตาอักเสบ เนื้อไม้ แก้โรคปอด และโรคโลหิตจาง ใบ แก้ร้อนใน พอกแผล ฝี แก้แผลมะเร็ง แก้หืด ใช้ทาภายนอกแก้หิด

องค์ประกอบทางเคมี    
ราก พบแอลคาลอยด์ปริมาณสูง เช่น hyatine, hyatinine, sepurine, beburine, cissampeline, pelosine นอกจากนี้ยังพบ quercitol, sterol  แอลคาลอยด์ hyatine มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อและลดความดันโลหิต (ฤทธิ์เทียบเท่ากับ d-tubercurarine ที่ได้จากยางน่อง)  cissampeline แสดงฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์ ใบมีสารพวกเพคติน เมื่อขยำใบกับน้ำ เมื่อทิ้งไว้จะแข็งตัวเป็นวุ้น





วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ภาวะท้องผูกกับมะขามแขก




          ภาวะท้องผูก ซึ่งจัดเป็นอาการที่เกิดกับระบบทางเดินอาหาร เกิดได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย สำหรับรายที่มีอาการท้องผูกเล็กน้อย คงไม่จำเป็นต้องพึ่งพายาในการรักษาแต่อย่างใด แต่หากมีอาการท้องผูกมากขึ้น และเป็นประจำ การใช้ยา ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยรักษาอาการดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม  ท้องผูกจัดเป็นอาการ มิใช่เป็นชื่อของโรค การจะทราบว่าใครมีภาวะท้องผูกบ้าง อาจดูได้จากอาการต่อไปนี้ คือ ต้องเบ่งอุจจาระมากกว่าร้อยละ 25 ของการขับถ่ายทั้งหมดหรือการมีภาวะอุจจาระแข็ง ถ่ายอุจจาระไม่หมด รู้สึกตุงบริเวณทวารหนัก หรือต้องใช้นิ้วล้วงทวารหนักเพื่อช่วยการขับถ่ายและสุดท้าย คือ จำนวนการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หากเกิดอาการข้างต้นมากกว่า 2 อาการ ถือว่ามีภาวะท้องผูก


สาเหตุการเกิดอาการท้องผูก อาจเกิดได้จาก 
มีความผิดปกติทางกายภาพ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติทางสรีระหรือโรคของสำไส้ รูทวาร ไขสันหลัง ความผิดปกติของเส้นประสาทที่ควบคุมการถ่าย การอุดตันของสำไส้ มะเร็งลำไส้ หรือพบร่วมกับโรคของระบบอื่น เช่น ภาวะการมีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ และการใช้ยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยาคลายความกังวล ยารักษาโรคจิต และอาการซึมเศร้า เป็นต้น ท้องผูกโดยไม่มีความผิดปกติทางกายภาพ เป็นอาการท้องผูกที่พบในคนที่มีสุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคสาเหตุอาจเกิดได้จาก อุปนิสัยการขับถ่าย ความเป็นอยู่ หรือจากสิ่งแวดล้อม อารมณ์และจิตใจก็ได้ เช่น การรับประทานอาหารที่มีกากน้อย ดื่มน้ำน้อย การขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น หรือแม้แต่การกลั้นอุจจาระเนื่องจากความรีบร้อนในการทำงาน ทำให้ละเลยต่อการปวดถ่าย 





  การรักษาอาการท้องผูก    

การรักษาโดยไม่ใช้ยา กรณีภาวะที่มีอาการท้องผูกไม่รุนแรง อาการหายไปโดยไม่ต้องใช้ยาได้ ซึ่งมีข้อแนะนำดังนี้ 
1. ควรรับประทานอาหารที่มีกาก เช่น ผักต่าง ๆ และ ดื่มน้ำมาก ๆ 
2.พยายามปรับสภาพชีวิตประจำวันให้มีการออกกำลังกายให้มากขึ้น เช่นลดการใช้ลิฟท์หรือบันไดเลื่อนแล้วใช้การเดินแทน หรือการเดินแทนการขึ้นรถในระยะทางใกล้ๆ 
3.บริหารร่างกายส่วนที่ให้ผลโดยตรงต่อกล้ามเนื้อหน้าท้อง เพราะจะช่วยให้ขับถ่ายได้เป็นปกติและเป็นเวลา เช่น การให้นอนราบ เอามือวางบนอก เกร็งกล้ามเนื้อให้พยุงตัวขึ้นนั่ง โดยพยายามอย่างอเข่า หรือยกเท้า ทำซ้ำเช่นนี้หลาย ๆ ครั้ง หรือ ให้นอนราบ เอามือวางบนอก เกร็งกล้ามเนื้อท้องให้สามารถยกขาขึ้น เหนือพื้นโดยเหยียดขาให้ตรง ทำซ้ำเช่นนี้หลาย ๆ ครั้ง 

 การรักษาโดยการใช้ยา 

        เมื่อเกิดภาวะท้องผูกและมีความจำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา ควรใช้เป็นการชั่วคราวเท่านั้น ไม่ควร ใช้ ติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์ โดยเฉพาะยากลุ่มที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการติดยา และการเกิดกลุ่มอาการท้องผูกสลับท้องเสีย (Irritable Bowel Syndrome) ซึ่งจะทำให้การทำงานของลำไส้ใหญ่ ลดลงมากกว่าปกติ เยื่อเมือกบุผนังลำไส้เหี่ยวผิดปกติ กล้ามเนื้อใต้เยื่อบุผิวลำไส้หนามากขึ้น ปมประสาทเสื่อม และเกิดการสูญเสียโปรตีนทางลำไส้ได้ 

        ยากระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ (Stimulants) มีอยู่หลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มไดฟีนีลมีเทน (Diphenylmethanes), น้ำมันละหุ่ง (Castor Oil), กลุ่มแอนตี้โคลีนเอสเทอเรส (Anticholinesterases), ยาเหน็บกลีเซอรีน (Glycerin), กลุ่มแอนทราซีนไกลโคไซด์ (Anthracene Glycosides) (อ้างอิงที่ 1) หนึ่งในยากระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ที่รู้จักกันดี คือมะขามแขกซึ่งเป็นยาในกลุ่ม แอนทราซีนไกลโคไซด์ (Anthracene Glycosides)






        มะขามแขก มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษคือ Senna มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Senna alexandrina P. Miller หรือCassia angustifolia มีประวัติการนำมาใช้เป็นยาระบายมานานเกือบ 100 ปี ในใบและฝักมะขามแขก มีสารที่ชื่อ แอนทราควิโนน ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ทำให้ถ่ายท้องได้ มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมากรองรับ 

สรรพคุณของมะขามแขก 

        1. ด้านสารสำคัญในการออกฤทธิ์เป็นยาถ่าย 
        มีการศึกษาพบฤทธิ์เป็นยาถ่าย สารที่ออกฤทธิ์ คือ sennoside A และ B, aloe emodin, dianthrone glycoside ซึ่งเป็น anthraquinone glycoside สาร anthraquinone glycoside จะยังไม่มีฤทธิ์เพิ่มการขับถ่ายเมื่อผ่านลำไส้เล็ก เมื่อผ่านเข้าไปในลำไส้ใหญ่ Sennoside A จึงถูก hydrolyze ได้ sennoside A-8-monoglucoside และถูก hydrolyzed โดย bata-glycosidase จากแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ และอุจจาระได้แก่ Bacillus, E. Coli ได้ sennidin A ส่วน sennoside B ก็จะถูกเปลี่ยนแปลงด้วยกระบวนการเช่นเดียวกันได้ sennidin B ทั้ง sennidin A & B จะเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้ และถูกเปลี่ยนต่อไปเป็น rheinanthrone ซึ่งออกฤทธิ์ต่อลำไส้ส่วน colon โดยตรง สารสำคัญนี้จะกระตุ้นกลุ่มเซลล์ประสาทซึ่งอยู่ใต้ชั้น Submucosa ทำให้เกิดการบีบตัวของลำไส้ 

        2. ฤทธิ์ในการกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ 
         มีผู้พบฤทธิ์กระตุ้นลำไส้ใหญ่ และมีการศึกษาในอาสาสมัคร 12 คน โดยให้ดื่มชาชงมะขามแขก เปรียบเทียบกับการรับประทานยา erythromycin จากนั้นทำการถ่ายภาพลำไส้ใหญ่ด้วยวิธี Magnetic Resonance Imaging (MRI) ก่อนและหลังได้รับชาชงหรือยา พบว่ากลุ่มที่ได้รับชาชงมะขามแขกจะทำให้ลำไส้ใหญ่ส่วน colon มีการเคลื่อนไหวมากกว่ากลุ่มที่ได้รับ erythromycin อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 

        3. การทดลองทางคลินิกสำหรับใช้รักษาอาการท้องผูก 
        มีการศึกษาในผู้ป่วยหลังผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ที่มีอาการท้องผูกจำนวน 92 คน อายุระหว่าง 43-82 ปี โดยให้ผู้ป่วย 61 คน รับประทานยาแคลเซียมเซนโนไซด์ ซึ่งเป็นแคลเซียมฟอร์มของเซนโนไซด์จากใบมะขามแขกที่ใช้เป็นยาระบาย ขนาดเม็ดละ 15 มก. 2 เม็ด ก่อนนอนทุกคืน หลังผ่าตัดในวันที่ 1 และให้รับประทานติดต่อกันจนถึงวันที่ 7 หลังการผ่าตัด และคนไข้อีก 31 คน เป็นกลุ่มควบคุม ไม่ได้รับยาระบายใดๆ พบว่าผู้ป่วยที่รับประทานยาแคลเซียมเซนโนไซด์ ถ่ายอุจจาระคล่องตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 4 หลังรับประทานยา คิดเป็นร้อยละ 90 การถ่ายอุจจาระเฉลี่ยวันละ 1.23 ครั้ง/คน ส่วนกลุ่มควบคุมมีเพียงร้อยละ 19 เท่านั้น ที่ถ่ายอุจจาระคล่อง สัดส่วนของการถ่ายอุจจาระคล่องในผู้ป่วยที่รับประทานยาแคลเซียมเซนโนไซด์มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

          นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในผู้ป่วยหลังผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก จำนวน 81 ราย อายุระหว่าง 52-86 ปี โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มควบคุม ซึ่งไม่ได้รับยา กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ได้รับยาเม็ดมะขามแขก 2 เม็ด ก่อนนอนทุกคืน หลังผ่าตัดในวันที่ 1 ติดต่อกันนาน 14 วัน กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ได้รับยาระบาย Milk of Magnesia (MOM) 30 มล. ก่อนนอน นาน 14 วัน จากนั้นทำการบันทึกลักษณะอุจจาระ และจำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระ พบว่าสัดส่วนของผู้ที่มีอาการท้องผูกและท้องเสียมีความแตกต่างกันระหว่าง 3 กลุ่ม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กลุ่มควบคุมถ่ายอุจจาระไปทางแข็งที่ไม่พึงประสงค์มากกว่าอื่น ส่วนกลุ่ม MOM ถ่ายไปในทางเหลวและน้ำมากกว่ากลุ่มอื่น จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าการใช้ยาเม็ดมะขามแขกในผู้ป่วยหลังผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก จะช่วยให้การถ่ายอุจจาระในลักษณะที่พึงประสงค์ (ปกติและเหลว) ได้ดีกว่าการใช้ยา MOM 

         มีการทดลองทางคลีนิคเพิ่มเติมโดยให้มารดาที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรกินมะขามแขก พบว่าใช้ได้ผลดี และไม่มีผลกระทบไปถึงทารก