ถนนคนเดิน (Walking Street) เป็นหนึ่งในแนวคิดการพัฒนาเมืองและการกำหนดใช้พื้นที่เมืองให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาและการใช้ประโยชน์พื้นที่ในเมือง ในหลายประเทศก็ได้กลายเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งรวมงานศิลปะ วรรณศิลป์ จิตรกรรม ฯลฯ ตลอดจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยงต่างชาติจะต้องแวะมาเยี่ยมเยือน
ถนนคนเดินในประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นครั้งแรก ที่ถนนสีลม เป็นต้นแบบของ “โครงการถนนคนเดินในประเทศไทย” เป็นเวลา 7 สัปดาห์ จากการตอบรับถนนคนเดินที่สีลม ทำให้รัฐบาลเห็นว่ารูปแบบกิจกรรม “ถนนคนเดิน” นอกเหนือจากจะสอดคล้องกับแผนพัฒนาเมือง โดยเฉพาะเมืองใหญ่ในภูมิภาค ดังเช่น จังหวัดเชียงใหม่ ยังสามารถปรับปรุงรูปแบบกิจกรรมใน “ถนนคนเดิน” ให้สอดรับกับความต้องการท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสมทั้งในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว การกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ตลอดจนการส่งเสริมคุณภาพชีวิตสำหรับคนในเมืองใหญ่นั้นๆ
จังหวัดเชียงใหม่ ในนาม “เชียงใหม่ นพบุรีศรีนครพิงค์” นครแห่งความรุ่งเรืองด้านศิลปกรรม โบราณวัตถุ ตลอดจนวัฒนธรรมล้านนาที่เปี่ยมมนต์เสน่ห์ ซึ่งเป็นความรุ่งเรืองที่ก้าวไปพร้อมๆกับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ โดยเชียงใหม่ได้กำหนดกรอบวิสัยทัศน์ และแนวทางการพัฒนาจังหวัด ซึ่งหนึ่งในแนวทางการดำเนินงานก็คือ การกำหนดให้มีการใช้ที่ดินในจังหวัดอย่างเหมาะสม เพื่อให้เชียงใหม่เป็นเมืองน่าอยู่ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปพร้อมๆกับการเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เปี่ยมศักยภาพและกิจกรรม “ถนนคนเดิน” ก็คืออีกหนึ่งกิจกรรมที่จะมีการนำมาดำเนินการในจังหวัดเชียงใหม่ โดยกำหนดให้พื้นที่ดำเนินการคือ “ถนนท่าแพ” อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นถนนสายเศรษฐกิจเส้นแรกของจังหวัด มีประวัติความเป็นมายาวนาน นับเป็นการปลุกวัฒนธรรมของพื้นที่ให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง เป็นการ “คืนชีวิตให้ชุมชน คืนถนนให้คนเดิน” โดยปิดถนนตั้งแต่แยกอุปคุตถึงประตูท่าแพ ความยาวประมาณ 950 เมตร โดยนำขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของล้านนามาเป็นหัวใจในการนำเสนอ ขณะเดียวกันก็สอดแทรกการรณรงค์ในเรื่องการประหยัดพลังงาน การลดมลพิษ และส่งเสริมการท่องเที่ยวไปในกิจกรรมพื้นฐานของ “ถนนคนเดิน”
โครงการนี้ นอกจากจะดำเนินเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังจะเป็นการก่อประโยชน์ให้ชุมชน ทั้งในแง่ของสังคม เศรษฐกิจ และวิถีชีวิต เพราะการปิดถนน จะทำให้สามารถนำพื้นที่มาสร้างเป็นลานกิจกรรมทางสังคม กลายเป็นที่สาธารณะกลางเมืองให้ชุมชน และนอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น ให้มีรายได้จากการนำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเองได้ในครัวเรือนมาจำหน่าย ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาของชาวบ้านได้อีกทางหนึ่ง พร้อมทั้งให้โอกาสถนนและพื้นที่ได้ฟื้นตัวจากมลพิษ ปรับปรุงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมของเมือง และสุขภาพจิตของประชาชน
ระยะแรก กิจกรรมถูกกำหนดให้จัดทุกๆวันอาทิตย์ โดยเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ – วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2545 รวมทั้งสิ้น 10 ครั้ง โดยใช้ชื่อว่า “10 มหัศจรรย์ล้านนาที่ท่าแพ” ดำเนินการโดยบริษัทเจ เอส แอล หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมนี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้มอบหมายให้เทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดกิจกรรมถนนคนเดินต่อเนื่องทุกสัปดาห์ โดยเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน 2545 เวลา 13.00 – 22.00 น. ต่อมา เทศบาลฯ จะทำการย้ายสายสาธารณูปโภคบนถนนท่าแพลงใต้ดิน จึงได้ย้ายการจัดกิจกรรมถนนคนเดินจากถนนท่าแพ ไปจัดที่ถนนราชดำเนิน ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2547 เป็นต้นมา ระยะทางประมาณ 1.50 กิโลเมตร และจัดกิจกรรมการแสดง บริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และได้เปลี่ยนเวลาเป็น 15.00 – 22.00 น. เพื่อความเหมาะสม
ถนนคนเดิน จึงจัดได้ว่าเป็นโครงการที่ดีมากของจังหวัดเชียงใหม่ที่ทุกฝ่ายสมควรจะสนับสนุนส่งเสริมให้คงอยู่ตลอดไป ทั้งนี้ เพื่ออำนวยประโยชน์มหาศาลแก่ทั้งคนท้องถิ่น ที่สามารถใช้เป็นแหล่งจัดจำหน่ายหัตถกรรมพื้นเมือง และนักท่องเที่ยว ก็มีโอกาสซื้อสินค้าจากผู้ผลิตท้องถิ่น เป็นสิ่งที่น่าประทับใจอีกประการหนึ่งของการท่องเที่ยวที่จะนำเชียงใหม่ให้มีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศ และมีเสน่ห์ในการมาเยี่ยมเยือนอยู่ตลอดไป
ถนนคนเดิน...สันกำแพง ทุกบ่ายวันเสาร์จนถึงประมาณสี่ทุ่ม ที่อำเภอสันกำแพง ก็มีถนนคนเดินเช่นกัน คึกคักดีทีเดียวสินค้าที่นำมาขายก็มาจากอำเภอไกล้เคียงกันคือ อ. สันกำแพง กิ่งอำเภอแม่ออน อ.ดอยสะเก็ด และอำเภอสารภี ก็มีของหลากหลายชนิดเหมือนของในถนนคนเดินทั่วๆไป แต่ผู้ที่นำสินค้ามาขายส่วนมากจะเป็นชาวบ้านจริงๆเพราะนี่เป็นโครงการของเทศบาลที่ต้องการช่วยเหลือคนในท้องถิ่น มีของกิน ของใช้ เครื่องประดับ เสื้อผ้า ผลิตภัณท์ จากไม้ ของเก่า นาฬิกาเก่า รถจักรยานเก่า ต้นไม้ดอก ไม้ประดับ เป็นต้น
แต่สิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจในการเดินเที่ยวครั้งนี้ที่ถนนคนเดินของสันกำแพงก็คือรถปิกอัพ สีเหลืองคันหนึ่ง และงานฝีมือของนักดนตรีพื้นเมืองคนหนึ่ง มีนามว่า มา ยอดคำปา ผู้ที่ต้องการอนุรักษ์ดนตรีพื้นเมืองเอาไว้ โดยใช้เวลากว่าเจ็ดเดือน ในการแปลงร่างรถปิกอัพ สภาพค่อนข้างเก่าคันนี้ ให้เป็นเวทีแสดงดนตรี เคลื่อนที่ได้ โครงสร้างหลักที่ตั้งอยู่บนรถคันนี้ใช้ไม้สักอย่างดี ประกอบเข้ากับกลไก จากมันสมองของชายผู้นี้ เพื่อโยงไปยังเครื่องดนตรีพื้นบ้าน คือ ฆ้อง ที่มีขนาดแตกต่างกันออกไป และ ด้านบนสุดเป็น ฉาบ สายลวดจะโยงเข้ากับสปริง และเชื่อมต่อกับคันบังคับ ทำให้สามารถเล่นได้โดยคนๆเดียว
ชายคนนี้เล่าว่า บนรถคันนี้ มีเครื่องดนตรีมากกว่า ยี่สิบชิ้น และคันบังคับที่เห็นก็มีอยู่หลายคัน แต่ละคัน ใหญ่ขาดข้อมือเห็นจะได้ จากที่ผมมองดูคงจะใช้แรงมากพอสมควรกดลงไปยังคันบังคับเพื่อให้เกิดเสียงที่เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นและผู้เล่นต้องสวมถุงมือในการเล่นนี้ด้วย ผมคิดว่า
ผมร่วมสนับสนุนความประสงค์ในการอนุรักษ์ดนตรีพื้นของชายผู้นี้ด้วยการหย่อนธนบัตรลงไปในขันที่มีพานรองซึ่งตั้งอยู่ข้างๆ รถตนตรีคันนี้ ก่อนเดินจากไป เพื่อ ชมส่วนอื่นๆของถนน คนเดินสันกำแพง
ถนนคนเดิน วัวลาย ถนนสายเครื่องเงินย่านเก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่ที่ผู้คนเกือบทั้งถนนมีอาชีพทำเครื่องเงินสืบต่อกันมานานรุ่นแล้วรุ่นเล่า ทุกวันเสาร์บนถนนวัวลายจะมีการปิดถนนทำเป็นถนนคนเดิน จุดเด่นของถนนคนเดินแห่งนี้อยู่ที่มีสินค้าเฉพาะกลุ่มให้เลือก นั่นคือ ผลิตภัณฑ์เครื่องเงินอันเป็นเอกลักษณ์เด่นของย่านนี้ โดยสามารถเดินเลือกซื้อเครื่องเงินสวย ๆ หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นของใช้เครื่องประดับ หรือของตกแต่งบ้านอย่างสบายอารมณ์ เพราะเป็นสินค้าพื้นเมืองจากผู้ผลิตโดยตรง นอกจากนี้ขอแนะนำให้แวะชมวัดสำคัญในย่านนี้ ได้แก่ วัดศรีสุพรรณ ซึ่งมีงานหัตถศิลป์ชุดใหญ่ที่ช่างฝีมือโบราณสร้างไว้ ประกอบด้วย เครื่องเงินและอลูมิเนียมที่แกะสลักหุ้มผนังอุโบสถทั้งหลัง ทั้งด้านนอกและด้านในวิจิตรงดงาม และวัดหมื่นสาร ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่ สถูปบรรรจุอัฐิครูบาศรีวิชัยก็อยู่ที่นี่ด้วยมาเที่ยวถนนคนเดินวัวลายวันเสาร์ สามารถจอดรถได้ที่หัวถนนและท้ายถนน คือ ข้างถนนด้านประตูเชียงใหม่และถนนทิพเนตร