วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555

วิธีการเลี้ยงไหม




  โดยปกติวงชีวิตของหนอนไหม    ซึ่งเริ่มตั้งแต่ไข่จนเป็นผีเสื้อ   ใช้เวลาประมาณ ๔๕-๕๒ วัน
          หลังจากแม่ผีเสื้อวางไข่แล้ว  ไข่จะเจริญเติบโตเรื่อยๆจนมีอายุได้  ๘  วันจะเริ่มมีจุดสีดำเกิดขึ้นก่อน ต่อมาจุดดำนี้จะขยายตัวจนทำให้ไข่เปลี่ยนเป็นสีดำอมเทา ประมาณวันที่ ๑๐หนอนไหมก็จะฟักออกจากไข่
          ปกติหนอนไหมจะฟักออกตอนเช้า  หลังจากฟักแล้วไม่ควรเกิน  ๓ ชั่วโมง จะต้องให้อาหารโดยหั่นใบหม่อนเป็นชิ้นเล็กๆให้กิน ไข่ที่ยังไม่ฟักจะเก็บไว้โดยห่อกระดาษสีดำ เพื่อเปิดให้ฟักพร้อมๆกันในวันรุ่งขึ้น   เมื่อฟักแล้วควรแยกเลี้ยงไว้ต่างหาก ไม่ควรนำไปเลี้ยงปนกับหนอนไหมที่ฟักก่อนในกระด้งเดียวกัน


การให้อาหาร

        แม้ว่าการให้อาหารบ่อยครั้งจะทำให้ไหมโตเร็วก็ตาม แต่ไม่สะดวกกับผู้เลี้ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืน  จึงควรให้อาหารวันละ  ๓  เวลา  คือ  ๐๖.๓๐ น. ๑๑.๓๐ น. และ ๑๗.๐๐ น.ใบหม่อนซึ่งให้หนอนไหมในวัยอ่อน  (วัย  ๑-๓)  ต้องหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ส่วนใบหม่อนที่ให้หนอนไหมที่เจริญเติบโตเป็นวัยแก่(วัย ๔-๕) นั้นให้ทั้งใบได้เลย

          ตัวหนอนไหมเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว  ถ้าอากาศร้อน(๓๐ องศาเซลเซียส) ก็ยิ่งโตเร็ว  ถ้าอากาศหนาวเย็นหรือร้อนเกินไปจะโตช้า และไม่แข็งแรง  เมื่อมีอายุ  ๓-๔ วัน หนอนไหมจะหยุดกินอาหาร อยู่เฉยๆ ประมาณ ๑ วัน  จึงลอกคราบใหม่ ระยะนี้เรียกว่า "ไหมนอน"   เมื่อลอกคราบหมด แล้วก็จะเริ่มกินอาหารต่อไป  ตัวและหัวใหญ่ขึ้น  ระยะนี้เรียกว่า "ไหมตื่น" โดยทั่วๆไปหนอนไหมจะนอน (ลอกคราบ) ๔ ครั้ง ก็จะขึ้นวัย ๕ กินอาหารจุจนอายุได้ ๗-๘ วัน ก็จะเริ่มหยุดกินอาหาร    ลำตัวมีสีขาวหรือเหลืองใสหดสั้นลง  ซึ่งเป็นระยะที่หนอนเติบโตเต็มที่แล้วเรียกว่า "ไหมสุก"  เริ่มพ่นใยออกมาจากปากเพื่อทำรัง  ถ้าพบอาการเช่นนี้  ควรเก็บไหมใส่ในจ่อเพื่อให้ไหมทำรังต่อไป หนอนไหมจะเสียเวลาในการชักใยทำรังอยู่ ๒ วัน  ก็จะเปลี่ยนรูปร่างเป็นดักแด้ และเมื่ออยู่ในรังได้ครบ ๑๐ วัน ก็จะเจาะรังออกมาเป็นผีเสื้อ ไหมที่จะใช้ทำพันธุ์จะต้องคัดรังที่ดีสมบูรณ์ขนาดใหญ่ไว้ต่างหาก ที่เหลือก็นำไปสาว หรือขายให้โรงงานสาวไหมต่อไป   รังที่ผีเสื้อไหมเจาะออกแล้ว   เส้นใยจะขาด  ใช้สาวเป็นเส้นไม่ได้

          ผีเสื้อไหมบินไม่ได้   เพราะปีกเล็กไม่สมกับลำตัวที่ใหญ่จะไม่กินอาหารเลย   ตัวผู้มีหน้าที่ผสมพันธุ์  ส่วนตัวเมียเมื่อได้ผสมพันธุ์แล้ว ก็จะวางไข่  แล้วก็ตายไปเมื่ออายุได้ประมาณ ๒-๓วัน



หนอนไหม
 
          หนอนไหมแต่ละตัวเมื่อโตเต็มที่แล้วก็จะขับของเหลวชนิดหนึ่งประกอบด้วยสารที่โปร่งแสง  ไม่มีสี  ๒ ชนิดด้วยกันจากต่อมไหม ออกมาทางต่อมน้ำลาย  ๒  ต่อมที่อยู่คนละด้านขนานกันทางส่วนหัวของหนอนไหม   ต่อมน้ำลายแต่ละต่อมมีชื่อเฉพาะคือ  "aqueduct" หรือ "collector" ต่อมหนึ่งและ"spinning"   อีกต่อมหนึ่ง   สำหรับต่อม   aqueduct นั้นใหญ่กว่าต่อม spinning เมื่อหนอนจะชักใยมันจะขับของเหลวจากถุงในต่อม aqueduct ออกทาง spinning  head  หรือspinneret ซึ่งเป็นช่องเล็กๆ  ผ่านออกสู่ภายนอกที่ช่องใช้ขากรรไกร ของเหลวดังกล่าวเมื่อถูกอากาศจะแข็งตัวทันทีกลายเป็นสายใย  ซึ่งเรียกว่า"สายไหม"  เป็นที่น่าสังเกตว่า      เส้นไหมที่ได้นั้นประกอบด้วยเส้นใยเล็กๆ ๒ เส้นรวมกันเรียกว่า bave   ซึ่งแต่ละเส้นเรียกว่าbrin  สามารถแยกออกจากกันได้  ในรังไหมแต่ละรังขนาดของสายไหมก็แตกต่างกันไป  กล่าวคือ  ชั้นนอกสุดของรัง เส้นไหมละเอียดกว่าชั้นกลางซึ่งค่อนข้างหยาบ  แต่ชั้นในสุดกลับละเอียดยิ่งกว่าชั้นนอกเสียอีก    เส้นไหมที่ได้จากไหมที่เลี้ยงในประเทศจีน   ขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นไหมชั้นนอกวัดได้ประมาณ  ๐.๐๐๐๕๒  นิ้ว   ส่วนชั้นในสุดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๐.๐๐๐๑๗ นิ้ว   แต่กระนั้นก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับเส้นใยธรรมชาติชนิดอื่นๆ  เส้นไหมก็ยังมีขนาดใหญ่กว่า สำหรับน้ำหนักก็เช่นกัน ใยไหมหนักกว่าใยของโลหะที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากันเสียด้วย    หนอนไหมแต่ละตัวชักใยได้ยาวไม่เท่ากัน  มันสามารถชักใยที่สาวออกแล้วได้ยาวตั้งแต่ ๓๕๐ -๑,๒๐๐ เมตร ซึ่งแล้วแต่พันธุ์ไหม



หลักปฏิบัติที่สำคัญในการเลี้ยงไหม

          ๑. หมั่นรักษาความสะอาดในห้องเลี้ยงไหม และอุปกรณ์ เพราะไหมเป็นสัตว์ที่สะอาดมาก
          ๒. ห้ามสูบบุหรี่ในห้องเลี้ยงไหมโดยเด็ดขาด
          ๓. ไม่เผาสิ่งปฏิกูลหรือเศษขยะในบริเวณใกล้เคียงห้องเลี้ยงไหม ขณะที่มีไหมอยู่ในห้อง เพราะไหมไม่ชอบควันไฟหรือกลิ่นเหม็น
          ๔. ใบหม่อนต้องมีคุณภาพดี สะอาด และมีปริมาณเพียงพอ
          ๕. ให้อาหารตรงตามวัยของไหม หนอนไหมยิ่งโตก็ให้ใบหม่อนที่แก่ขึ้น
          ๖. ไม่ควรเลี้ยงไหมแน่นจนเกินไป เนื้อที่ ๘๕ x๑๐๐ เซนติเมตร ควรเลี้ยงไหมวัยแก่ประมาณ ๕๐๐ ตัว
          ๗. ถ่ายมูลหรือกากใบหม่อนที่ตกค้างทับถมในกระด้งเลี้ยงอย่างน้อยวันละ ๑ ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนที่ไหมจะเข้านอนทุกครั้ง
          ๘. เมื่อไหมนอนควรเปิดหน้าต่างให้ลมโกรก อากาศแห้งไหมจะลอกคราบง่าย     และไม่ควรให้ตัวไหมได้รับการกระทบกระเทือน
          ๙. อย่าให้อาหารขณะที่ไหมนอน
          ๑๐. อุปกรณ์ที่ใช้เลี้ยงแล้วและยังไม่ใช้ควรแยกไว้ต่างหาก ที่ใช้แล้วควรนำออกมาล้าง แล้วผึ่งแดดเป็นระยะๆ แล้วจึงค่อยนำเข้าไปใช้ใหม่
          ๑๑.  ควรเลี้ยงไหมเป็นรุ่นๆ เพื่อให้คนเลี้ยงมีเวลาพักและทำความสะอาดโรงเลี้ยงและอุปกรณ์    ซึ่งได้แก่   กล้องจุล-ทรรศน์และน้ำยาเคมีต่างๆ   เป็นต้น
          ๑๒. ไม่ควรผลิตไข่ไหมเอง เพราะเสียค่าใช้จ่ายสูงในการตรวจโรคเพบริน (pebrin)
          ๑๓.  ห้ามนำสารเคมีฆ่าแมลง และสารมีกลิ่นเข้าห้องเลี้ยงไหม โดยเด็ดขาด







วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555

“อาหารถั่วเหลือง” สารพัดคุณค่าที่ทุกบ้านคู่ควร




   เมื่อพูดถึง “อาหารถั่วเหลือง” นอกจากน้ำเต้าหู้ หรือนมถั่วเหลืองที่เรา ๆ ท่าน ๆ รู้จักกันดีแล้ว หลายคนคงขมวดคิ้วคิดไม่ออกว่า สิ่งที่ได้จากถั่วเหลืองมีอะไรอีกบ้าง แต่ถ้าลองนึกดูดี ๆ อีกที ทั้งซีอิ้วขาว น้ำมันพืช เต้าเจี้ยว เต้าฮวย ซอสปรุงรส โปรตีนเกษตร และเต้าหู้นานาชนิด ล้วนแล้วแต่ทำจากถั่วเหลืองทั้งนั้น ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นพืชอาหารที่นำไปใช้ประกอบอาหารได้สารพัดอย่าง ยังสามารถช่วยป้องกันโรคได้อีกด้วย 
   นักวิชาการจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับอาหารถั่วเหลืองมาฝากผู้อ่านทุกบ้านกัน และสิ่งที่จะนำเสนอต่อไปนี้ คือคุณประโยชน์จากอาหารถั่วเหลืองที่มีต่อสุขภาพ ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกัน





1. ลดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน
         อาหารและการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต สามารถลดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนได้นั่นคือ การได้รับอาหารที่มีแคลเซียมสูงเป็นประจำ และหนึ่งในนั้นก็คือ ถั่วเหลือง อีกทั้งยังมีโปรตีนช่วยให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียมน้อยลง จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่บริโภคโปรตีนจากถั่วเหลืองแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ จะมีการขับแคลเซียมในปัสสาวะน้อยลง นอกจากนี้สารประกอบในถั่วเหลืองยังมีส่วนช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก ซึ่งมี daidzein และ genistein ซึ่งเป็น isoflavones (สารที่มีประโยชน์ในสตรีวัยทอง) ช่วยระงับการสลายของกระดูกอีกด้วย
       
 2. ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง
       มีการศึกษาวิจัยพบว่า ประชากรในแถบที่มีการบริโภคอาหารถั่วเหลืองเป็นประจำพบว่า อัตราการตายจากโรคมะเร็งเต้านมต่ำ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ชาวญี่ปุ่นในอเมริกาซึ่งมีการบริโภคผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองน้อยกว่าชาวญี่ปุ่น ในประเทศญี่ปุ่นเอง แต่มีวิถีอื่น ๆ เหมือนกันพบว่า มีอัตราการเกิดโรคมะเร็งเต้านมสูงกว่า ดังนั้นการบริโภคถั่วเหลืองเพียงวันละ 1 ครั้ง จะช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งเต้านม อาหารถั่วเหลืองดังกล่าวได้แก่ ปริมาณ 1/2 ถ้วยตวงของถั่วเหลืองต้มสุก หรือเต้าหู้ขาว หรือจะเป็นนมถั่วเหลือง 1 แก้วก็ได้



3. ถั่วเหลืองกับโรคเบาหวาน
       ถั่วเหลืองเป็นอาหารที่มีบทบาทสำคัญในคนเป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากสามารถลดการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสเข้ากระแสเลือด เพราะผู้ป่วยเบาหวาน ร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินเพียงพอในการขนถ่ายน้ำตาลในเลือดไปส่งให้ เซลล์ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดพลังงานได้ ดังนั้นจึงมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และล้นออกมาในปัสสาวะ นอกจากนี้โปรตีนจากถั่วเหลืองอาจช่วยยับยั้งการเกิดผลที่ตามมาของเบาหวานคือ โรคหลอดเลือดอุดตัน และโรคไต ทั้งยังมี glycemic index (ค่าดัชนี้น้ำตาล) ต่ำ ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นได้ช้า เนื่องจากมีสารไฟเตท และแทนนิน ซึ่งจะทำให้การย่อย และดูดซึมแป้งลดลง รวมไปถึงมี soluble fiber (เส้นใยอาหารชนิดที่ละลายในน้ำได้) ช่วยให้การดูดซึมน้ำตาลช้าลงด้วย
4. ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด
        อาหารถั่วเหลืองไม่เฉพาะมีไขมันอิ่มตัวต่ำ ไม่มีโคเลสเตอรอลเท่านั้น แต่โปรตีนในอาหารถั่วเหลืองยังช่วยลดโคเลสเตอรอล โดยมีการศึกษามากกว่า 40 การศึกษาแสดงว่า โปรตีนจากถั่วเหลืองช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดลงได้ถึงร้อยละ 10-15 ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจวายได้ถึงร้อยละ 20 ปริมาณโปรตีนจากถั่วเหลือง 25 กรัมต่อวันหรือปริมาณ 1 ถ้วยตวงสามารถลดระดับโคเลสเตอรอลได้ นอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งการเกิดออกซิเดชั่นของโคเลสเตอรอลซึ่งจะมีผลในการ ทลายผนังหลอดเลือด ซึ่งสาร genistein ยับยั้งการเกิด plaque ที่เกาะที่ผนังเส้นเลือดอันเป็นเหตุให้เส้นเลือดอุดตัน และยังช่วยยับยั้งการเกิดการจับตัวของเกร็ดเลือดซึ่งทำให้เกิดก้อนลิ่มเลือด
       แต่การจะลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาด เลือดนั้น ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ในวิถีชีวิตอีก เช่น งดสูบบุหรี่ ลดการบริโภคอาหารไขมันสูง โดยเฉพาะอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัว และโคเลสเตอรอลสูง แล้วหันมากินอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ข้าวไม่ขัดสี ถั่วเมล็ดแห้ง ผัก และผลไม้ ประกอบกับออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วย
 5. ถั่วเหลืองมีธาตุเหล็กสูง การขาดธาตุเหล็กทำให้เกิดโรคโลหิตจาง ซึ่งพบมากในคุณแม่ตั้งครรภ์ และเด็ก ตลอดจนวัยรุ่น และอาจพบได้ในผู้ที่เป็นมังสวิรัติถ้ามีการบริโภคไม่ถูกต้อง กระนั้น ถึงแม้ถั่วเหลืองจะมีธาตุเหล็กสูง ขณะเดียวกันก็มีสารต้านการดูดซึมแร่ธาตุเหล็กด้วย ได้แก่ ไฟเตท และแทนนิน ดังนั้นการเสริมให้ร่างกายดูดซึมแร่ธาตุเหล็กจากถั่วเหลือง อาจทำได้หลายวิธี เช่น การเสริมเนื้อสัตว์ในอาหารถั่วเหลือง (สำหรับผู้ที่ไม่ใช่มังสวิรัติ) หรือเสริมวิตามินซีจากอาหารในมื้อที่มีถั่วเหลือง เช่น ผลไม้ น้ำผลไม้ อาหาร หรือพืชผักที่มีวิตามินซีสูงในมื้ออาหารที่มีถั่วเหลือง เช่น กะหล่ำปลี บลอคโคลี พริกเขียว มันฝรั่ง เป็นต้น

       
   6. อาหารถั่วเหลืองกับสุขภาพของไต
       ผู้ที่เป็นโรคไต ต้องจำกัดการบริโภคโปรตีนและโคเลสเตอรอล โปรตีนจากถั่วเหลือง เป็นอาหารที่ผู้ป่วยโรคไตได้รับการแนะนำให้ทดแทนโปรตีนจากสัตว์ เนื่องจากพบว่า การทำงานของไตดีขึ้น นอกจากนี้ยังลดโคเลสเตอรอลในเลือดอีกด้วย ซึ่งมีการศึกษาพบว่า โปรตีนจากถั่วเหลืองไม่ได้มีผลต่อการขับแคลเซียมออกในปัสสาวะสูงเท่าโปรตีน จากเนื้อสัตว์ ดังนั้นการใช้โปรตีนจากถั่วเหลืองแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์จึงช่วยลดอุบัติ การณ์การเกิดโรคนิ่วในไตได้
       

 7. อาหารถั่วเหลืองกับสุขภาพผู้หญิง
     ผู้หญิงที่กินอาหารถั่วเหลืองพบอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งเต้านมน้อย และยังพบอีกว่า ผู้หญิงออสเตรเลียที่กินแป้งถั่วเหลืองประมาณ 1/2 ถ้วยตวงทุกวัน อาการผิดปกติหลังหมดประจำเดือนลดลง ทั้งยังช่วยลดการสลายของกระดูก จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่บริโภคอาหาร ถั่วเหลืองเป็นประจำด้วย
       
       อย่างไรก็ตาม การบริโภคอาหารถั่วเหลือง ไม่ได้เป็นหลักประกันเพียงอย่างเดียวว่า จะช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ แต่จากปรากฎการณ์ที่พบ อาหารถั่วเหลืองมีบทบาทต่อสุขภาพโดยเฉพาะของผู้หญิง ทำให้ต้องมีการศึกษาเรื่องนี้ต่อไปเพื่อให้ยืนยันได้แน่ชัดขึ้น

       
สำหรับวิธีการเพิ่มการบริโภคอาหารถั่วเหลืองในชีวิตประจำวัน ได้แก่

       
       - ดื่มนมถั่วเหลืองเป็นอาหารเช้า

       - ใช้เนื้อเทียม/โปรตีนเกษตร เป็นส่วนประกอบของอาหารแทนเนื้อสัตว์
       
       - ใช้ถั่วเหลืองฝักอ่อน/ถั่วแระ และถั่วงอกหัวโตเป็นส่วนประกอบของสลัดและอาหาร
       
       - ใช้น้ำนมถั่วเหลืองในการทำเค้ก แพนเค้ก
       
       - ควรใช้แป้งถั่วเหลืองแทนแป้งสาลี
       
       - ใช้ผลิตภัณฑ์เต้าหู้ในการทำอาหาร เช่น ผัดกับผัก แกงจืด เป็นต้น
       
       รู้แบบนี้แล้วก็อย่ามองข้าม “ถั่วเหลือง” กันนะ